อาณาจักรศรีโคตรบูรณ์
ความเป็นมาของอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์ ที่มาของจังหวัดนครพนม นครพนมเป็นเมืองเก่าแก่ในประวัติศาสตร์ เป็นจังหวัดที่อยู่ไกลที่สุดในภาคอีสาน ดินแดนสองฝั่งแม่น้ำโขงแถบนี้ สมัยก่อนเคยเป็นอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์ เป็นอาณาจักรที่เจริญรุ่งเรืองมากในดินแดนแถบลุ่มแม่น้ำโขง ในยุคนั้นมีอาณาจักรล้านช้าง สิบสองจุไทย เวียงจันทน์ จำปาศักดิ์ อยุธยาตอนต้น และอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์ ซึ่งเป็นที่มาของจังหวัดนครพนม ในสมัยก่อนที่ประเทศไทยยังไม่ได้เสียดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงไปในสมัยสงครามฝรั่งเศส ดินแดนสองฝั่งแม่น้ำโขงแถบนี้ก่อนที่จะมาเป็นอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์ เคยเป็นดินแดนของอาณาจักรฟูนัน ตามจดหมายกรีกกล่าวไว้ว่า อาณาจักรฟูนัน เป็นอาณาจักรที่มีอำนาจแผ่ออกไปกว้างขวางจนถึงแหลมมลายูและพม่า ในพุทธศตวรรษที่ 5-11 ต่อมาเป็นดินแดนของอาณาจักรเจนละ จนถึงพุทธศตวรรษที่ 14 จนกระทั่งต่อมาขอมได้มีอำนาจในแถบลุ่มแม่น้ำโขง จนถึงพุทธศตวรรษที่ 19 ขอมจึงได้เริ่มเสื่อมอำนาจลง ต่อมาพระเจ้าฟ้างุ้มได้รวบรวมหัวเมืองต่าง ๆ ในแถบลุ่มแม่น้ำโขงตั้งขึ้นเป็น "ราชอาณาจักรศรีสตนาคนหุตล้านช้าง" ตั้งแต่ปี พ.ศ.1896 เป็นต้นมา
เมื่ออาณาจักรศรีสตนาคนหุตล้านช้าง มีอำนาจเหนือบริเวณลุ่มแม่น้ำโขง "แคว้นศรีโคตรบูรณ์" ก็เป็นเมืองลูกหลวงเมืองหนึ่งที่มีความเจริญรุ่งเรืองในแถบลุ่มแม่น้ำโขงตอนใต้ของอาณาจักรล้านช้าง ตามตำนานได้กล่าวไว้ว่า ผู้ครองนครแคว้นศรีโคตรบูรณ์ มีนามว่า "พระยาศรีโคตรบอง" เป็นราชบุตรเขยของพระเจ้าล้านช้าง พญาศรีโคตรบองเป็นผู้ที่เข้มแข็งในการออกศึกสงคราม เป็นที่โปรดปราณของกษัตริย์ล้านช้าง จึงได้ให้ตั้งเมืองใหม่ขึ้นที่ริมฝั่งแม่น้ำโขงตอนใต้ จึงได้ขว้างกระบองประจำตัวขึ้นไปในอากาศเพื่อเสี่ยงทายหาที่ตั้งเมืองใหม่ กระบองได้ตกลงแถบบริเวณ "เซบั้งไฟ" ริมฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับอำเภอธาตุพนม แล้วตั้งเมืองใหม่ชื่อว่า "ศรีโคตรบูรณ์" ขึ้นเป็นเมืองลูกหลวงของอาณาจักรล้านช้าง
ต่อมาเมื่อเจ้าผู้ครองเมืองศรีโคตรบูรณ์สวรรคตลง ก็ได้เกิดอาเพศ และเภทภัยต่าง ๆ มากมาย จึงได้ย้ายเมืองศรีโคตรบูรณ์ไปตั้งอยู่ริมน้ำหินบูรณ์ ตรงข้ามกับอำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ต่อมาบริเวณที่ตั้งเมืองที่ริมน้ำหินบูรณ์ได้ถูกน้ำเซาะตลิ่งโขงพังทลายลงทุกวัน จึงได้ย้ายเมืองลงไปทางตอนใต้ฝั่งขวาของแม่น้ำโขงบริเวณที่เป็นดงไม้รวก ซึ่งในสมัยโบราณเชื่อว่ามีความอุดมสมบูรณ์ แล้วเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "มรุกขนคร" ซึ่งหมายถึง ดงไม้รวก
ปี พ.ศ. 2330 พระบรมราชา เจ้าเมืองมรุกขนครได้เห็นว่าการที่เมืองมรุกขนครตั้งอยู่ที่บ้านธาตุน้อยศรีบุญเรือง ริมห้วยบังฮวกมาเป็นเวลาถึง 20 ปี แล้ว นั้น ถูกน้ำเซาะตลิ่งโขงพังและบ้านเรือนราษฎรเสียหาย จึงได้ย้ายเมืองขึ้นไปตั้งทางเหนือตามลำแม่น้ำโขงที่ บ้านหนองจันทร์ ห่างจากจังหวัดนครพนมไปทางใต้ ประมาณ 3 กิโลเมตร
ปี พ.ศ. 2337 ได้เกิดศึกพม่าทางเมืองเชียงใหม่ พระบรมราชาเจ้าผู้ครองเมืองมรุกขนครได้ไปออกศึกในครั้งนี้ด้วย ได้บริโภคผักหวานเบื่อจนถึงแก่อนิจกรรมที่เมืองเถิน ท้าวสุดตา ซึ่งเป็นพี่ชายของพระมเหสีของพระบรมราชา จึงได้นำเครื่องราชบรรณาการลงไปเฝ้า รัชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท้าวสุดตาเป็นผู้ครองเมืองมรุกขนคร และเปลี่ยนชื่อเมือง จาก "มรุกขนคร" เป็นเมือง "นครพนม" ขึ้นตรงกับกรุงเทพมหานคร ชื่อนครพนมนั้นมีข้อสันนิษฐานไว้ 2 ประการ คือ คำว่า "นคร" หมายถึง เมืองที่เคยเป็นเมืองลูกหลวงมาก่อน และเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ส่วนคำว่า "พนม" ก็มาจาก พระธาตุพนม ปูชนียสถานที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองมาช้านาน บางตำราก็ว่า เดิมสมัยประเทศไทยยังไม่เสียดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงไป สมัยสงครามฝรั่งเศส เมืองมรุกขนคร มีอาณาเขตกินไปถึงดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง คือ สปป.ลาว ซึ่งมีภูเขาสลับซับซ้อนมากมาย ไปจนถึงดินแดนของเวียดนาม เดิมที่อยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงตั้งอยู่บริเวณที่มีภูเขาสลับซับซ้อน จึงนำคำว่า "พนม" ซึ่งแปลว่าภูเขามาใช้ ส่วนคำว่า "นคร" เป็นการดำรงชื่อเมืองไว้ คือ เมืองมรุกขนคร จึงนำคำว่าพนม ซึ่งพนมแปลว่าภูเขามาต่อท้ายคำว่านคร เป็น "นครพนม" ซึ่งหมายถึงหมายถึง "เมืองแห่งภูเขา" นั่นเอง
นครพนมจากอดีตถึงปัจจุบัน
จังหวัดนครพนม เป็นจังหวัดชายแดน ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ 735 กิโลเมตร อยู่ตรงข้ามกับเมืองท่าแขก แขวงคำม่วน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยมีแม่น้ำโขงเป็นเส้นกั้นพรมแดน ยาวถึง 153 กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ 5,,512.67 ตารางกิโลเมตร
ทิศเหนือ ติดกับอำเภอเซกา จังหวัดหนองคาย
ทิศใต้ ติดกับอำเภอดงหลวง และ อำเภอหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหาร
ทิศตะวันออก ติดกับแขวงคำม่วน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
ทิศตะวันตก ติดกับอำเภอกุสุมาลย์ และ อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร
โดยมีจุดผ่านแดนถาวร 1 จุด และจุดผ่อนปรน 3 จุด ดังนี้
จุดผ่านแดนถาวร คือ อำเภอเมืองนครพนม อยู่ตรงข้ามกับเมืองท่าแขก แขวงคำม่วน
จุดผ่อนปรน คือ 1. บ้านดอนแพง อำเภอบ้านแพง อยู่ตรงข้ามกับบ้านบุ่งกวาง เมืองปากระดิ่ง แขวงบริคำไซ
2. อำเภอท่าอุเทน อยู่ตรงข้ามกับเมืองหินบูร แขวงคำม่วน
3. อำเภอธาตุพนมอยู่ตรงข้ามกับ บ้านปากเซ เมืองหนองบก แขวงคำม่วน
การปกครอง
แบ่งการปกครองออกเป็น 11 อำเภอ 1 กิ่งอำเภอ คือ อำเภอเมือง, อำเภอท่าอุเทน, อำเภอปลาปาก, อำเภอโพนสวรรค์, อำเภอเรณูนคร, อำเภอธาตุพนม, อำเภอศรีสงคราม, อำเภอนาแก, อำเภอบ้านแพง, อำเภอนาหว้า, อำเภอนาทม, และ อำเภอวังยาง
สภาพดินฟ้าอากาศของจังหวัดนครพนมแบ่งออกเป็น 3 ฤดู
/ ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ - กลางเดือนพฤษภาคมของทุกปี ฤดูร้อนจะมีอากาศร้อน อบอ้าว อุณหภูมิเฉลี่ย 25-35 องศาเซลเซียส และมีอุณหภูมิสูงสุดอยู่ในช่วง 37-40 องศาเซลเซียส
ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม -กลาง เดือนตุลาคม
ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่กลางเดือนตุลาคม - กลางเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี โดยทั่วไปอากาศจะหนาวเย็นอุณหภูมิเฉลี่ย 10-12 องศาเซลเซียส
ประชากรที่อยู่ในจังหวัดนครพนม ประมาณ 7 แสนหว่าคน ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ 95 % รองลงมาศาสนาคริสตร์ 3.9 % นอกนั้นนับถือศาสนาอื่น ๆ ร้อยละ 95 ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก โดยการทำนา และปลูกพืชไร่ตามฤดูกาล เช่น ยาสูบ ปอ มะเขือเทศ มันสำปะหลัง สัปปะรดเป็นต้น นอกจากนี้ประชากร บางส่วนยังมีอาชีพหัตถกรรมในครัวเรือนด้วย และประชากรบางส่วนซึ่งเป็นผู้ใช้แรงงาน เดินทางไปทำงานในต่างประเทศ เท่าที่ผ่านมา นิยมเดินทางไปทำงานในตะวันออกกลาง แต่ในปัจจุบันเริ่มมีแนวโน้มที่จะไปทำงานในสิงคโปร์และไต้หวันแทน โดยเป็นพนักงานฝ่ายผลิตของโรงงานต่าง ๆ งานก่อสร้างและงานภาคเกษตร
ลักษณะประชากร ประชากรจังหวัดนครพนม ประกอบด้วยชน 7 เผ่า ได้แก่ ไทย, ลาว, ผู้ไท, ญ้อ, โซ่,
กะเลิง และแสก นอกจากนี้ยังมีชาวไทยเชื้อสายจีนและเวียดนามอีกด้วย ชนเผ่าต่าง ๆ มีความหวงแหนในศิลปวัฒนธรรม และขนบธรรมเนียมประเพณีของตนเอง เช่น ชนเผ่าผู้ไท อำเภอเรณูนคร ซึ่งยังคงรักษาเอกลักษณ์ของตนเองไว้เป็นอย่างดี
แหล่งวัฒนธรรมที่สำคัญ มีศูนย์วัฒนธรรม จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดนครพนม ศูนย์วัฒนธรรมอำเภอท่าอุเทน ศูนย์วัฒนธรรมอำเภอเรณูนคร ศูนย์วัฒนธรรมอำเภอธาตุพนม ศูนย์วัฒนธรรมอำเภอนาแก
การแสดงและการละเล่นวัฒนธรรมพื้นบ้าน รำศรีโคตรบูรณ์ รำหางนกยูง ฟ้อนผู้ไทเรณูนคร เซิ้งเมืองเว รำเบิ่งโขง รำบายศรี แสกเต้นสาก รำไทญ้อ รำบูชาพระธาตุพนม เซิ้งไหลเรือไฟ
จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาจังหวัดนครพนม ปี 2545 ประมาณ 5 แสนกว่าคน เป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย 90% เป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 10 % ประเทศที่นักท่องเที่ยวเดินทางมากที่สุด 5 ลำดับ คือ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมัน และญี่ปุ่น ช่วงที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาจังหวัดนครพนมมากที่สุด คือ ช่วงการจัดงานเทศกาลและงานประเพณีที่สำคัญ ๆ คือ ช่วงการจัดงานนมัสการพระธาตุพนมที่อำเภอธาตุพนม ประมาณช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ระยะเวลาในการจัดงาน 7 วัน วันขึ้น 10 ค่ำ ถึงแรม 1 ค่ำเดือน 3 ชองทุกปี ช่วงการจัดงานประเพณีไหลเรือไฟ ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงวันออกพรรษาขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 ของทุกปี เป็นนักท่องเที่ยวชาวไทยประมาณ 75 % 15 % เป็นนักท่องเที่ยวชาวลาว ชาติอื่น ๆ 10 % นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจังหวัดนครพนม ส่วนใหญ่ จะเดินทางเป็นวงรอบ เลาะแม่น้ำโขงมาเรื่อย ๆ จากหนองคาย เรื่อยมา ทางบึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร ลงไปถึงอุบลราชธานี หรือ ไม่ก็จาก อุบลราชธานีขึ้นไปจนถึงหนองคาย และบางส่วนมาจังหวัดนครพนมเพื่อข้ามไป สปป.ลาว และเดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข 8 ไปเวียดนาม
การเดินทางข้ามไปลาวและเวียดนาม สามารถเดินทางไปได้ 3 เส้นทาง คือ
เส้นทางที่ 1 เส้นทางชมธรรมชาติ จากจังหวัดนครพนม - ข้ามแม่น้ำโขง - ทางหลวงหมายเลข 8 ออกด่านน้ำเพา แขวงคำม่วน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว - สู่ด่านเกาแตรว (เมืองวิงห์) - จังหวัดฮาติงห์ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม รวมระยะทาง 354 ก.ม. ต่อจากจังหวัดฮาติงห์ ตามทางหลวงหมายเลข 1 ขึ้นไปทางเหนือ ผ่าน เมืองทันหัว ไฮฟอง สู่เมืองหลวงฮานอย และฮาลองเบย์ แหล่งมรดกโลก
เส้นทางที่ 2 เส้นทางประวัติศาสตร์ ย้อนรอยสงครามอินโดจีน จากจังหวัดมุกดาหาร - ข้ามแม่น้ำโขง - ทางหลวงหมายเลข 9 ออกด่านแดนสวรรค์ แขวงสะหวันนะเขต สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว - สู่ด่านลาวบาว (เมืองดงฮา) จังหวัดกวางตรี สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม รวมระยะทาง 300 ก.ม จากนั้นเดินทางต่อไปยังทางตอนใต้ของเวียดนาม ผ่านทางหลวงหมายเลข 1 ของเวียดนาม ไปยัง เว้ แหล่งมรดกโลก ดานัง เมืองท่าเรือที่สำคัญ นาตรัง เมืองท่องเที่ยวชายทะเล ดาลัด เมืองสำหรับคู่ฮันนีมูน ฟานเทียต เมืองชายทะเล สู่โฮจิมินห์ (ไซ่ง่อน) ในอดีตเส้นทางหมายเลข 9 เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญในสมัยสงครามอินโดจีน (เส้นทางโฮจิมินห์) ปัจจุบันได้แปรเปลี่ยนเป็นเส้นทางเศรษฐกิจที่สำคัญในด้านการค้าชายแดนและเส้นทางการท่องเที่ยวที่สำคัญระหว่างประเทศไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา และประเทศจีนตอนใต้
เส้นทางที่ 3 เส้นทางวัฒนธรรมและชมธรรมชาติ จากจังหวัดนครพนม - ข้ามแม่น้ำโขง - ทางหลวงหมายเลข 12 - ออกด่านนาเพ้า แขวงคำม่วน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว - สู่ด่านจอหลอ (เมืองดงเหย) จังหวัดกวางบิงห์ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม รวมระยะทาง 190 ก.ม. เส้นทางหมายเลข 12 นี้กำลังอยู่ในช่วงการก่อสร้างอยู่การเดินทางจะไม่ค่อยสะดวกนัก ต่อไปเมื่อการก่อสร้างเสร็จสิ้นลง เส้นทางนี้จะเป็นเส้นทางที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าเส้นทางหมายเลข 8 และ 9 เนื่องจากมีระยะทางใกล้กว่า นับเป็นโอกาสอันดีที่จะสามารถส่งเสริมให้จังหวัดนครพนมและมุกดาหารเป็นประตูสู่อินโดจีน เนื่องจากใช้ระยะเวลาในการเดินทางไป 3 ประเทศ ภายในวันเดียว ททท. สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือเขต 4 จึงได้จัดโครงการวันเดียวกินข้าว 3 แผ่นดิน (ไทย -- ลาว -- เวียดนาม) ขึ้น ตามเส้นทางหมายเลข 8 และหมายเลข 9 โดยรับประทานอาหารเช้าที่ประเทศไทย อาหารกลางวันที่ สปป.ลาว อาหารเย็นที่เวียดนาม นอกจาก ททท. สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือเขต 4 จัดโครงการวันเดียวกินข้าว 3 แผ่นดินแล้ว ยังมีเส้นทางท่องเที่ยวล่องแม่น้ำโขง 2 เส้นทาง คือ ล่องโขงมหานที ศรีโคตรบูรณ์ ที่ท่านกำลังได้สัมผัสอยู่นี้แล้ว ยังมีเส้นทางล่องโขงมหานทีศรีโคตรบูรณ์ ไปนมัสการพระธาตุพนม อ.ธาตุพนม ส่วนเส้นทางทางบกนอกจาก เส้นทางวันเดียวกินข้าว 3 แผ่นดินแล้วยังมี เส้นทางวันเดียวเที่ยว 7 เมือง ขอพร 7 พระธาตุ เส้นทางท่องเที่ยวย้อนยุค 1920 City Tour Nakhon Phanom) (ครึ่งวัน) เส้นทาง 2 อุ แถม อุ (เส้นทาง 3 อุ) เส้นทางนี้เป็นเส้นทางที่เชื่อมโยงกัน 3 จังหวัด คือ อุบลราชธานี ชม UNSEEN ที่ จ. อุบลราชธานี จากนั้นเดินทางไปยัง อ. เรณูนคร ชิมอุ (เหล้าสาโท) ที่ขึ้นชื่อของชาวเรณูนคร ชมการแสดงศิลปวัฒนธรรมของชาวผู้ไท พร้อมกับรับประทานอาหารพื้นบ้านแบบพาแลง พักค้างคืนที่ จ. นครพนม รุ่งเช้าเดินทางดู UNSEEN (หาด-ทรายทองศรีโคตรบูรณ์) จ. นครพนม และเดินทางไปดู UNSEEN ที่ จ. อุดรธานี
แม่น้ำโขง
แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำนานาชาติระหว่างประเทศที่สำคัญของเอเชีย ไหผ่านถึง 6 ประเทศ คือ จีน เมียนมาร์ ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา เป็นแม่น้ำที่มีความสำคัญทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม เกษตรกรรมรวมทั้งการท่องเที่ยว โดยเฉพาะทางด้านการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวได้เริ่มให้ความสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะความหลากหลายของทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรม ไม่น้อยไปกว่าแม่น้ำดานู้บในยุโรป หรือ ในลุ่มน้ำอเมซอนของทวีปอเมริกาใต้
แม่น้ำโขงถือว่าเป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีความยาวเป็นอันดับที่ 12 ของโลก พื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขงทั้งหมดมีขนาดประมาณ 795,000 ตร.กม. เป็นลุ่มน้ำใหญ่เป็นอันดับที่ 21 ของโลก มีความยาวรวมประมาณ 4,800 กม. แบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือ ลุ่มแม่น้ำโขงตอนบน หรือเรียกว่าแม่น้ำล้านช้าง นับจากต้นน้ำลงมาถึง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย มีความยาวครึ่งหนึ่งของความยาวทั้งหมด คือ 2,400 กม.และตอนล่าง ส่วนแม่น้ำโขงตอนล่าง นับจากอำเภอเชียงแสนลงมาถึงสามเหลี่ยมปากแม่น้ำสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม มีความยาว 2,400 กม. เช่นเดียวกับตอนบน
ในส่วนของประเทศไทย แม่น้ำโขงไหลผ่าน 7 จังหวัด คือ เชียงราย เลย หนองคาย นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี โดยไหลผ่านจังหวัดนครพนม 153 กม. ในช่วงหน้าร้อนเริ่มตั้งแต่ประมาณปลายเดือนธันวาคม ถึงเดือนพฤษภาคม แม่น้ำโขงจะลดลงเป็นแนวยาวจนเห็นหาดทรายทองบริเวณสวนเทิดพระเกียรติท้ายเมือง ซึ่ง ททท. ได้กำหนดให้เป็น UNSEEN นครพนม คือ "หาดทรายทองศรีโคตรบูรณ์" จะสามารถชมได้เฉพาะในช่วงหน้าร้อนเท่านั้น
ในช่วงที่แม่น้ำโขงลดเห็นหาดทราย ทาง ททท.ร่วมกับจังหวัดนครพนม ทั้งภาครัฐและเอกชน จะจัดงาน แม่น้ำโขงไตรกีฬานานาชาติ ขึ้นเป็นประจำทุกปี ที่บริเวณหาดทรายสวนเทิดพระเกียรติท้ายเมือง คือ ว่ายน้ำในแม่น้ำโขง ระยะทางประมาณ 1.5 กม. ต่อด้วยการปั่นจักรยานทางเลียบระยะทาง 40 กม. หลังจากนั้นปิดท้ายด้วยการวิ่งระยะทาง 10 กม. โดยนักกีฬาคนเดียวกัน จะกำหนดจัดทุกสัปดาห์ที่ 4 ของเดือนมีนาคม
จังหวัดนครพนม นอกจากจะมีแม่น้ำโขงซึ่งเปรียบเสมือนสายน้ำแห่งการหล่อเลี้ยงชีวิตแล้ว ยังมีแม่น้ำสำคัญสานอื่น ๆ อีก เช่น แม่น้ำสงคราม ต้นน้ำเกิดที่อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ไหลผ่าน อำเภอเซกา จังหวัดหนองคาย อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร ผ่าน อำเภอศรีสงคราม และไหลสู่แม่น้ำโขง ที่ตำบลไชยบุรี อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ลำน้ำยาม ต้นน้ำเกิดที่จังหวัดสกลนคร ไหลผ่านอำเภอศรีสงคราม มาบรรจบลำน้ำสงคราม ที่บ้านปากยาม ตำบลสามผง อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม ลำน้ำก่ำ ต้นน้ำเกิดที่จังหวัดสกลนคร ไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่ตำบลน้ำก่ำ อำเภอธาตุพนม ลำน้ำอูน ต้นน้ำเกิดที่จังหวัดสกลนคร ไหลผ่านอำเภอนาหว้า มาบรรจบกับลำน้ำสงครามที่บ้านปากอูน อำเภอศรีสงคราม
นอกจากนี้ทางด้านเหนือและด้านใต้ของจังหวัดนครพนมยังมีลำห้วยต่าง ๆ ที่สำคัญคือ ห้วยลังกา ห้วยทวย ห้วยบังกอ ห้วยหนองเซา ห้วยบังฮวก ห้วยแคน ห้วยกะเบา ห้วยชะโนด ห้วยบางทราย ห้วยมุก ห้วยบังอี่ และห้วยฮ่องฮอ เป็นต้น
แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ
1. ภูลังกา ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของอำเภอบ้านแพง ห่างจากอำเภอบ้านแพง 6 กิโลเมตร ภูลังกาเป็นต้นกำเนิดของน้ำตกและลำธารใหญ่น้อยหลายสาย ตลอดจนมีความอุดมสมบูรณ์ของดอกไม้ กล้วยไม้ และพันธุ์ไม้นานาชนิดที่สวยงาม การเดินทางจากตัวจังหวัด ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 212 (นครพนม-บ้านแพง) ระยะทาง 92 กิโลเมตร
2. น้ำตกตาดขาม ต้นลำธารเกิดจากเทือกเขาภูลังกา ตั้งอยู่ใจกลางเขตป่าสงวนแห่งชาติภูลังกา ห่างจากที่ว่าการอำเภอบ้านแพง ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ 6 กิโลเมตร เป็นลำห้วยไหลมาบรรจบกัน สภาพโดยรอบบริเวณร่มรื่น เหมาะแก่การไปท่องเที่ยวและพักผ่อนเป็นอย่างยิ่ง ปัจจุบันมีถนนคอนกรีต เข้าไปถึงบริเวณน้ำตก การเดินทางใช้เส้นทางเดียวกับทางไปภูลังกา
3. น้ำตกตาดโพธิ์ กำเนิดจากเทือกเขาภูลังกา อยู่ใกล้กับน้ำตกตาดขามห่างกันประมาณ 5 กิโลเมตร มีลักษณะสวยงามไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ที่ตั้งอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอบ้านแพงประมาณ 11 กิโลเมตร เส้นทางเป็นถนนลูกรัง ใช้ได้ทุกฤดูกาล รถยนต์ไม่สามารถเข้าถึงตัวน้ำตกได้ ต้องเดินขึ้นไปใช้เวลาเดินประมาณชั่วโมงเศษ สองข้างทางร่มรื่นเหมาะแก่การเดินชมความงามตามธรรมชาติอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในฤดูฝนสามารถมองเห็น น้ำตกนี้ได้จากทางหลวงแผ่นดินที่เลียบริมฝั่งแม่น้ำโขง
4. หาดดอนแพง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของอำเภอบ้านแพงห่างจากที่ว่าการอำเภอประมาณ 1 ก.ม. อยู่ติดริมฝั่งแม่น้ำโขงตรงข้ามกับประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นสถานที่ที่มี ทัศนียภาพสวยงาม โดยเฉพาะภูมิทัศน์ยามที่มีการปลูกใบยาสูบนับพันไร่