ความเป็นมาของอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์ ที่มาของจังหวัดนครพนม
นครพนมเป็นเมืองเก่าแก่ในประวัติศาสตร์ เป็นจังหวัดที่อยู่ไกลที่สุดในภาคอีสาน ดินแดนสองฝั่งแม่น้ำโขงแถบนี้ สมัยก่อนเคยเป็นอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์ เป็นอาณาจักรที่เจริญรุ่งเรืองมากในดินแดนแถบลุ่มแม่น้ำโขง ในยุคนั้นมีอาณาจักรล้านช้าง สิบสองจุไทย เวียงจันทน์ จำปาศักดิ์ อยุธยาตอนต้น และอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์ ซึ่งเป็นที่มาของจังหวัดนครพนม
ในสมัยก่อนที่ประเทศไทยยังไม่ได้เสียดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงไปในสมัยสงครามฝรั่งเศส ดินแดนสองฝั่งแม่น้ำโขงแถบนี้ก่อนที่จะมาเป็นอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์ เคยเป็นดินแดนของอาณาจักรฟูนัน ตามจดหมายกรีกกล่าวไว้ว่า อาณาจักรฟูนัน เป็นอาณาจักรที่มีอำนาจแผ่ออกไปกว้างขวางจนถึงแหลมมลายูและพม่า ในพุทธศตวรรษที่ 5-11 ต่อมาเป็นดินแดนของอาณาจักรเจนละ จนถึงพุทธศตวรรษที่ 14 จนกระทั่งต่อมาขอมได้มีอำนาจในแถบลุ่มแม่น้ำโขง จนถึงพุทธศตวรรษที่ 19 ขอมจึงได้เริ่มเสื่อมอำนาจลง ต่อมาพระเจ้าฟ้างุ้มได้รวบรวมหัวเมืองต่าง ๆ ในแถบลุ่มแม่น้ำโขงตั้งขึ้นเป็น "ราชอาณาจักรศรีสตนาคนหุตล้านช้าง ตั้งแต่ปี พ.ศ.1896" เป็นต้นมา
เมื่ออาณาจักรศรีสตนาคนหุตล้านช้าง มีอำนาจเหนือบริเวณลุ่มแม่น้ำโขง "แคว้นศรีโคตรบูรณ์" ก็เป็นเมืองลูกหลวงเมืองหนึ่งที่มีความเจริญรุ่งเรืองในแถบลุ่มแม่น้ำโขงตอนใต้ของอาณาจักรล้านช้าง ตามตำนานได้กล่าวไว้ว่า ผู้ครองนครแคว้นศรีโคตรบูรณ์ มีนามว่า "พระยาศรีโคตรบอง" เป็นราชบุตรเขยของพระเจ้าล้านช้าง พญาศรีโคตรบองเป็นผู้ที่เข้มแข็งในการออกศึกสงคราม เป็นที่โปรดปราณของกษัตริย์ล้านช้าง จึงได้ให้ตั้งเมืองใหม่ขึ้นที่ริมฝั่งแม่น้ำโขงตอนใต้ โดยขว้างกระบองประจำตัวขึ้นไปในอากาศเพื่อเสี่ยงทายหาที่ตั้งเมืองใหม่ กระบองได้ตกลงแถบบริเวณ "เซบั้งไฟ" ริมฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับอำเภอธาตุพนม แล้วตั้งเมืองใหม่ชื่อว่า "ศรีโคตรบูรณ์" ขึ้นเป็นเมืองลูกหลวงของอาณาจักรล้านช้าง
ต่อมาเมื่อเจ้าผู้ครองเมืองศรีโคตรบูรณ์สวรรคตลง ก็ได้เกิดอาเพศ และมีเภทภัยต่าง ๆ มากมาย จึงได้ย้ายเมืองศรีโคตรบูรณ์ไปตั้งอยู่ริมน้ำหินบูรณ์ ตรงข้ามกับอำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ต่อมาบริเวณที่ตั้งเมืองที่ริมน้ำหินบูรณ์ได้ถูกน้ำเซาะตลิ่งโขงพังทลายลงทุกวัน จึงได้ย้ายเมืองลงไปทางตอนใต้ฝั่งขวาของแม่น้ำโขงบริเวณที่เป็นดงไม้รวก ซึ่งในสมัยโบราณเชื่อว่ามีความอุดมสมบูรณ์ แล้วเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "มรุกขนคร" ซึ่งหมายถึง ดงไม้รวก
ปี พ.ศ. 2330 พระบรมราชา เจ้าเมืองมรุกขนครได้เห็นว่าการที่เมืองมรุกขนครตั้งอยู่ที่บ้านธาตุน้อยศรีบุญเรือง ริมห้วยบังฮวกมาเป็นเวลาถึง 20 ปี แล้ว นั้น ถูกน้ำเซาะตลิ่งโขงพังและบ้านเรือนราษฎรเสียหาย จึงได้ย้ายเมืองขึ้นไปตั้งทางเหนือตามลำแม่น้ำโขงที่ บ้านหนองจันทร์ ห่างจากจังหวัดนครพนมไปทางใต้ ประมาณ 3 กิโลเมตร
ปี พ.ศ. 2337 ได้เกิดศึกพม่าทางเมืองเชียงใหม่ พระบรมราชาเจ้าผู้ครองเมืองมรุกขนครได้ไปออกศึกในครั้งนี้ด้วย ได้บริโภคผักหวานเบื่อจนถึงแก่อนิจกรรมที่เมืองเถิน ท้าวสุดตา ซึ่งเป็นพี่ชายของพระมเหสีของพระบรมราชา จึงได้นำเครื่องราชบรรณาการลงไปเฝ้า รัชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท้าวสุดตาเป็นผู้ครองเมืองมรุกขนคร และเปลี่ยนชื่อเมือง จาก "มรุกขนคร" เป็นเมือง "นครพนม" ขึ้นตรงกับกรุงเทพมหานคร
ชื่อนครพนมนั้นมีข้อสันนิษฐานไว้ 2 ประการ คือ คำว่า "นคร" หมายถึง เมืองที่เคยเป็นเมืองลูกหลวงมาก่อน และเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ส่วนคำว่า "พนม" ก็มาจาก พระธาตุพนม ปูชนียสถานที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองมาช้านาน
บางตำราก็ว่า เดิมสมัยประเทศไทยยังไม่เสียดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงไป สมัยสงครามฝรั่งเศส เมืองมรุกขนคร มีอาณาเขตกินไปถึงดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง คือ สปป.ลาว ซึ่งมีภูเขาสลับซับซ้อนมากมาย ไปจนถึงดินแดนของเวียดนาม เดิมที่อยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงตั้งอยู่บริเวณที่มีภูเขาสลับซับซ้อน จึงนำคำว่า "พนม" ซึ่งแปลว่าภูเขามาใช้ ส่วนคำว่า "นคร" เป็นการดำรงชื่อเมืองไว้ คือ เมืองมรุกขนคร จึงนำคำว่าพนม ซึ่งพนมแปลว่าภูเขามาต่อท้ายคำว่านคร เป็น "นครพนม" ซึ่งหมายถึงหมายถึง "เมืองแห่งภูเขา" นั่นเอง
นครพนมจากอดีตถึงปัจจุบัน
จังหวัดนครพนม เป็นจังหวัดชายแดน ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ 735 กิโลเมตร อยู่ตรงข้ามกับเมืองท่าแขก แขวงคำม่วน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยมีแม่น้ำโขงเป็นเส้นกั้นพรมแดน ยาวถึง 153 กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ 5,512.67 ตารางกิโลเมตร แบ่งการปกครองออกเป็น 11 อำเภอ 1 กิ่งอำเภอ คือ อำเภอเมือง, อำเภอท่าอุเทน, อำเภอปลาปาก, อำเภอโพนสวรรค์, อำเภอเรณูนคร, อำเภอธาตุพนม, อำเภอศรีสงคราม, อำเภอนาแก, อำเภอบ้านแพง, อำเภอนาหว้า, อำเภอนาทม, และอำเภอวังยาง
ลักษณะประชากร ประชากรจังหวัดนครพนม ประกอบด้วยชน 7 เผ่า ได้แก่ ไทย, ลาว, ผู้ไท, ญ้อ, โซ่,กะเลิง และแสก นอกจากนี้ยังมีชาวไทยเชื้อสายจีนและเวียดนามอีกด้วย ชนเผ่าต่าง ๆ มีความหวงแหนในศิลปวัฒนธรรม และขนบธรรมเนียมประเพณีของตนเอง เช่น ชนเผ่าผู้ไท อำเภอเรณูนคร ซึ่งยังคงรักษาเอกลักษณ์ของตนเองไว้เป็นอย่างดี การแสดงและการละเล่นวัฒนธรรมพื้นบ้าน รำศรีโคตรบูรณ์ รำหางนกยูง ฟ้อนผู้ไทเรณูนคร เซิ้งเมืองเว รำเบิ่งโขง รำบายศรี แสกเต้นสาก รำไทญ้อ รำบูชาพระธาตุพนม เซิ้งไหลเรือไฟ
แม่น้ำโขง
แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำนานาชาติระหว่างประเทศที่สำคัญของเอเชีย ไหผ่านถึง 6 ประเทศ คือ จีน เมียนมาร์ ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา เป็นแม่น้ำที่มีความสำคัญทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม เกษตรกรรมรวมทั้งการท่องเที่ยว โดยเฉพาะทางด้านการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวได้เริ่มให้ความสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะความหลากหลายของทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรม ไม่น้อยไปกว่าแม่น้ำดานู้บในยุโรป หรือ ในลุ่มน้ำอเมซอนของทวีปอเมริกาใต้
แม่น้ำโขงถือว่าเป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีความยาวเป็นอันดับที่ 12 ของโลก พื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขงทั้งหมดมีขนาดประมาณ 795,000 ตร.กม. เป็นลุ่มน้ำใหญ่เป็นอันดับที่ 21 ของโลก มีความยาวรวมประมาณ 4,800 กม. แบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือ ลุ่มแม่น้ำโขงตอนบน หรือเรียกว่าแม่น้ำล้านช้าง นับจากต้นน้ำลงมาถึง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย มีความยาวครึ่งหนึ่งของความยาวทั้งหมด คือ 2,400 กม.และตอนล่าง ส่วนแม่น้ำโขงตอนล่าง นับจากอำเภอเชียงแสนลงมาถึงสามเหลี่ยมปากแม่น้ำสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม มีความยาว 2,400 กม. เช่นเดียวกับตอนบน ในส่วนของประเทศไทย แม่น้ำโขงไหลผ่าน 7 จังหวัด อ เชียงราย เลย หนองคาย นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี โดยไหลผ่านจังหวัดนครพนม 153 กม. ในช่วงหน้าร้อนเริ่มตั้งแต่ประมาณปลายเดือนธันวาคม ถึงเดือนพฤษภาคม แม่น้ำโขงจะลดลงเป็นแนวยาวจนเห็นหาดทรายทองบริเวณสวนเทิดพระเกียรติท้ายเมือง ซึ่ง ททท. ได้กำหนดให้เป็น UNSEEN นครพนม คือ "หาดทรายทองศรีโคตรบูรณ์" จะสามารถชมได้เฉพาะในช่วงหน้าร้อนเท่านั้น
จังหวัดนครพนม นอกจากจะมีแม่น้ำโขงซึ่งเปรียบเสมือนสายน้ำแห่งการหล่อเลี้ยงชีวิตแล้ว ยังมีแม่น้ำสำคัญสายอื่น ๆ อีก เช่น
แม่น้ำสงคราม ต้นน้ำเกิดที่อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ไหลผ่าน อำเภอเซกา จังหวัดหนองคาย อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร ผ่าน อำเภอศรีสงคราม และไหลสู่แม่น้ำโขง ที่ตำบลไชยบุรี อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม
ลำน้ำยาม ต้นน้ำเกิดที่จังหวัดสกลนคร ไหลผ่านอำเภอศรีสงคราม มาบรรจบลำน้ำสงคราม ที่บ้านปากยาม ตำบลสามผง อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม
ลำน้ำก่ำ ต้นน้ำเกิดที่จังหวัดสกลนคร ไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่ตำบลน้ำก่ำ อำเภอธาตุพนม
ลำน้ำอูน ต้นน้ำเกิดที่จังหวัดสกลนคร ไหลผ่านอำเภอนาหว้า มาบรรจบกับลำน้ำสงครามที่บ้านปากอูน อำเภอศรีสงคราม
แหล่งท่องเที่ยวที่ผ่านในเส้นทางล่องเรือ
แหล่งท่องเที่ยวของเมืองท่าแขก บ้านนาเมือง ผ่านสุสานทหารฝรั่งเศส เลียบเลาะเมืองท่าแขก ถึงด่านท่าแขก จะมองเห็นยอดพระธาตุน้อย ของผู้ปกครองอาณานิคมชาวฝรั่งเศส ผ่านโรงแรมศรีโคตร อดีตเป็นที่ว่าการอาณานิคม วัดนาโบ โรงแรมสี่ชั้น อาคารคาสิโนเก่า ตลาดเก่า บ้านนายพลสิงคโปร์ ปากห้วยนางลี้ ถึงห้องว่าการ (หลังเก่า) เจ้าแขวงคำม่วน คุกฝรั่งเศส
แหล่งท่องเที่ยวของเมืองนครพนม หันหัวเรือกลับสู่ฝั่งไทย ชมวัดริมฝั่งโขง ได้แก่ วัดพระอินทร์แปลง วัดมหาธาตุ วัดกลาง วัดโพธิ์ศรี วัดโอกาส ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองนครพนม หอนาฬิกา ลานตะวันเบิกฟ้า โรงเรียนสุนทรวิจิตร สำนักงาน ททท. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขต 4 จวนผู้ว่าราชการจังหวัด (หลังเก่า) วัดนักบุญอันนา (โบสถ์คาทอลิค) ที่สร้างด้วยชาวเวียตนาม เมื่อปี ค.ศ. 1926
สงวนลิขสิทธิ์โดย © :: องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครพนม :: All Right Reserved.