Edit title Here

คลิกเพื่อเข้าสู่เว็บไซต์

เว็บไซต์หน่วยงานต่างๆ

Free Hit Counter
เริ่มนับ 1 เมษายน 2554
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

Untitled

จังหวัดนครพนม

คำขวัญจังหวัดนครพนม : พระธาตุพนมค่าล้ำ วัฒนธรรมหลากหลาย เรณูภูไท เรือไฟโสภา งามตาฝั่งโขง
นครพนม เมืองนครแห่งอีสาน ดินแดนสองฝั่งแม่น้ำโขงแถบนี้ เดิมทีเป็นที่ตั้งของอาณาจักรศรีโคตรบูร ตัวเมืองตั้งอยู่ทางฝั่งซ้ายของลำน้ำโขง(ฝั่งลาว) บริเวณทางใต้ปากเซบั้งไฟ ตรงข้ามกับพระธาตุพนมในปัจจุบัน ตามประวัติเล่ากันว่าเมื่อพญานันทเสนผู้ครองศรีโคตรบูรสวรรคต เสนาอำมาตย์และประชาชนต่างก็เห็นว่าบ้านเมืองเกิดเภทภัยหลายครั้ง ควรที่จะย้ายไปสร้างเมืองใหม่อยู่ตรงข้ามกัน ซึ่งเป็นบริเวณที่มีป่าไม้รวกขึ้นอยู่เป็นดงจึงได้เรียกชื่อเมืองใหม่นี้ว่า “มรุกขนคร” หมายถึงเมืองที่อยู่ในดงไม้รวก มรุกขนครในสมัยพญาสุมิตรธรรมเมื่อ พ.ศ. ๕๐๐ นั้นรุ่งเรืองมาก มีเมืองขึ้นมากมายและมีการบูรณะพระธาตุพนมขึ้นเป็นครั้งแรกด้วย โดยการก่อพระลานอูบมุงชั้นที่ ๑ และชั้นที่ ๒ แล้วสร้างกำแแพงล้อมรอบ มีงานสมโภชใหญ่โต หลังจากพญา สุมิตรธรรมแล้วก็มีผู้ครองนครต่อมาอีก ๒ พระองค์ แต่ก็เกิดมีเหตุอาเพศแก่อาณาจักรศรีโคตรบูรจนกลายเป็นเมืองร้าง กระทั่งถึง พ.ศ. ๑๘๐๐ เจ้าศรีโคตรบูรได้สร้างเมืองมรุกขนครขึ้นใหม่ใต้เมืองท่าแขก บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ในพ.ศ. ๒๐๕๗ ผู้ครองเมืองมรุกขนครคือพระเจ้านครหลวงพิชิตทศพิศ ราชธานีศรีโคตรบูรหลวง ได้เปลี่ยนชื่อเมืองใหม่กลายเป็น “เมืองศรีโคตรบูร” ตรงตามชื่ออาณาจักรดั้งเดิม ในยุคสมัยนี้ยังได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์พระธาตุพนมอีกด้วย ต่อมา พ.ศ. ๒๒๘๐ พระธรรมราชา เจ้าเมืองศรีโคตรบูรองค์สุดท้ายได้ย้ายเมืองมาตั้งบนฝั่งขวา (ฝั่งไทย) เยื้องเมืองเก่าขึ้นไปทางเหนือ แล้วให้ชื่อว่า “เมืองนคร” ซึ่งก็เจริญรุ่งเรืองขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้ว่าจะมีการโยกย้ายอีกหลายครั้ง ดังเช่น พ.ศ.๒๓๒๑ ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชก็ได้มีการย้ายเมืองอีกครั้งไปตั้งที่บ้านหนองจันทร์ ห่างขึ้นไปทางทิศเหนือ ๕๒ กิโลเมตร จนถึงสมัยรัชกาลที่ ๑ พ.ศ. ๒๓๓๓ เมื่อผู้ครองเมืองนครถึงแก่พิราลัย เมืองนครก็ได้ขอขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานคร โดยรัชกาลที่ ๑ พระราชทานนามให้ใหม่ว่า “ นครพนม” ชื่อนครพนมนั้นมีข้อสันนิษฐานว่าเคยเป็นเมืองลูกหลวงมาก่อนและมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์จึงได้ใช้คำว่า “ นคร” ส่วนคำว่า “พนม” ก็มาจากพระธาตุพนมปูชนียสถานที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองมาช้านาน บ้างก็ว่ามรุกขนครเดิมที่อยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงตั้งอยู่ในบริเวณที่มีภูเขาสลับซับซ้อนจึงนำคำว่า “พนม” ซึ่งแปลว่าภูเขามาใช้ ส่วนคำว่า “นคร” ก็เป็นการดำรงชื่อเมืองไว้คือเมืองมรุกขนคร นครพนมจึงหมายถึง “ เมืองแห่งภูเขา” นั่นเอง

จังหวัดนครพนมมีพื้นที่ประมาณ ๕,๕๑๒.๖๖๘ ตารางกิโลเมตร ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ ๗๔๐ กิโลเมตร แบ่งการปกครองออกเป็น ๑๑ อำเภอ ๑ กิ่งอำเภอ คือ อำเภอเมืองนครพนม ธาตุพนม นาแก ท่าอุเทน เรณูนคร บ้านแพง ปลาปาก ศรีสงคราม นาหว้า โพนสวรรค์ นาทม และกิ่งอำเภอวังยาง

อาณาเขตจังหวัดนครพนม

ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอเซกา จังหวัดหนองคาย
ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอดงหลวง อำเภอหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหาร
ทิศตะวันออก ติดต่อกับแขวงคำม่วน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยมีแม่น้ำโขงเป็นเส้นกั้นพรมแดน
ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอกุสุมาลย์ อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร

การเดินทาง

รถยนต์ จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข ๑ ถนนพหลโยธิน ถึงสระบุรี บริเวณกิโลเมตรที่ ๑๐๗ แยกเข้าทางหลวงหมายเลข ๒ ถนนมิตรภาพ ผ่านจังหวัดนครราชสีมา ถึงอำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น แยกเข้าทางหลวงหมายเลข ๒๓ ผ่านจังหวัดมหาสารคาม ทางหลวงหมายเลข ๒๑๓ แล้วแยกขวาเข้าสู่จังหวัดกาฬสินธุ์และผ่านจังหวัดสกลนคร ตรงเข้าสู่จังหวัดนครพนม ตามทางหลวงหมายเลข ๒๒ รวมระยะทางประมาณ ๗๔๐ กิโลเมตร
รถโดยสารประจำทาง บริษัท ขนส่ง จำกัด เปิดบริการเดินทางระหว่างกรุงเทพฯ-นครพนม มีทั้งรถโดยสารธรรมดา และรถโดยสารปรับอากาศ ออกจากสถานีขนส่งหมอชิต ๒ ทุกวัน สอบถามรายละเอียดที่ โทร. ๐ ๒๙๓๖ ๒๘๕๒-๖๖ นครพนม โทร. ๐ ๔๒๕๑ ๑๔๐๓ สำหรับบริษัทเอกชนติดต่อ บริษัท แสงประทีปเดินรถ จำกัด โทร. ๐ ๔๒๕๒ ๐๔๑๑ บริษัท ชัยสิทธิ์ จำกัด โทร. ๐ ๔๒๕๒ ๐๕๖๑ และบริษัทเชิดชัยทัวร์ จำกัด โทร. ๐ ๖๒๒๕ ๖๐๖๓, ๐ ๔๒๕๑ ๒๐๙๘

เครื่องบิน บริษัท พี บี แอร์ จำกัด เปิดบริการเที่ยวบินไปจังหวัดนครพนมทุกวัน สอบ-ถามรายละเอียดโทร. ๐ ๔๒๕๘ ๗๒๐๗ กรุงเทพฯ โทร. ๐ ๒๕๓๕ ๔๘๔๓-๔ หรือสามารถสำรองที่นั่งได้ที่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โทร. ๑๕๖๖, ๐ ๒๒๘๐ ๐๐๖๐, ๐ ๒๖๒๘ ๒๐๐๐ www.thaiairways.com

การเดินทางในตัวเมืองยังไม่มีรถโดยสาร หรือรถสองแถวประจำทางมีเพียงรถสามล้อเครื่อง (รถสกายแล็ป) เท่านั้น ราคาแล้วแต่จะตกลงกัน ส่วนใหญ่จะเริ่มตั้งแต่ ๒๐ -๖๐ บาท แล้วแต่ระยะทาง

ระยะทางจากตัวเมืองไปยังอำเภอและกิ่งอำเภอต่าง ๆ

อ. ท่าอุเทน ๒๖ กิโลเมตร
อ.ปลาปาก ๔๔ กิโลเมตร
อ.โพนสวรรค์ ๔๕ กิโลเมตร
อ.เรณูนคร ๕๑ กิโลเมตร
อ.ธาตุพนม ๕๒ กิโลเมตร
อ.ศรีสงคราม ๖๗ กิโลเมตร
อ.นาแก ๗๘ กิโลเมตร
อ.บ้านแพง ๙๓ กิโลเมตร
อ.นาหว้า ๙๓ กิโลเมตร
อ.นาทม ๑๓๐ กิโลเมตร
อ.วังยาง ๘๐ กิโลเมตร

ระยะทางจากจังหวัดนครพนม ไปยังจังหวัดใกล้เคียง

จ.สกลนคร ๙๓ กิโลเมตร
จ.มุกดาหาร ๑๐๔ กิโลเมตร
จ.อุบลราชธานี ๒๗๑ กิโลเมตร
จ.ขอนแก่น ๒๙๘ กิโลเมตร
จ.หนองคาย ๓๐๓ กิโลเมตร

สถานที่น่าสนใจ

อำเภอเมือง

วัดโอกาสศรีบัวบาน ตั้งอยู่ริมฝั่งโขงเขตเทศบาลเมืองนครพนม เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองมาแต่โบราณ บริเวณกลางวัดจะมีหอประดิษฐานพระติ้วกับพระเทียมอยู่คู่กัน พระติ้วจะประทับอยู่ด้านขวาของพระเทียม พระติ้วเป็นพระพุทธรูปปางเพชรมารวิชัย ทำด้วยไม้ติ้วบุทองคำ ขนาดหน้าตักกว้าง ๓๐ เซนติเมตร สูง ๖๐ เซนติเมตร สร้างโดยเจ้าผู้ครองนครศรีโคตรบูร เมื่อพ.ศ. ๑๓๒๘ ส่วนพระเทียมมีลักษณะและขนาดเดียวกับพระติ้ว สร้างในสมัยพระเจ้าขัติยวงศา และมีการสมโภชให้พระติ้ว พระเทียม เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองสืบมาจนถึงปัจจุบัน

วัดศรีเทพประดิษฐาราม ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมือง ถนนศรีเทพ เยื้องโรงเรียนชุมชนเทศบาล ๓ สร้างขึ้นเมื่อ พ. ศ. ๒๔๐๒ ภายในโบสถ์มีจิตรกรรมฝาผนังรูปพุทธประวัติที่สวยงาม และยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญ คือ พระแสง ตำนานเล่าว่าสร้างขึ้นพร้อมกับพระสุกและหลวงพ่อพระใส (วัดโพธิ์ชัย จังหวัดหนองคาย) ข้างๆโบสถ์มีเจดีย์บรรจุอัฐิของหลวงปู่จันทร์ (พระเทพสิทธาจารย์) พระเกจิอาจารย์ที่ชาวนครพนมเคารพนับถือ ส่วนรูปปั้นนั้นจะอยู่ในตึกเทพสิทธาราม และที่น่าชมอีกอย่างหนึ่งคือ อาคารที่สร้างขึ้นใน พ. ศ. ๒๔๖๔ ซึ่งได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมในด้านปูชนียสถานและวัดวาอาราม จากสมาคมสถาปนิกสยามฯ

วัดมหาธาตุ ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมือง ริมถนนสุนทรวิจิตร เลียบเขื่อนหน้าเมืองนครพนม วัดมหาธาตุสร้างในปี พ. ศ. ๑๑๕๐ โดยพระยามหาอำมาตย์ (ป้อม) แม่ทัพใหญ่ที่มาจากเวียงจันทน์ มีพระธาตุนครลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้างประมาณ ๕.๘๕ เมตร สูงประมาณ ๒๔ เมตร เป็นปูชนียสถานสำคัญ และยังมีโบสถ์เก่าแก่สวยงามมาก

วัดนักบุญอันนา หนองแสง ตั้งอยู่บนถนนสุนทรวิจิตร เลียบเขื่อนหน้าเมืองนครพนม สร้างขึ้นเมื่อ ค.ศ. ๑๙๒๖ โดยคุณพ่อเอทัวร์ นำลาภ อธิการโบสถ์ วัดนักบุญอันนาหนองแสงนี้เป็นสัญลักษณ์ของเมืองนานาชาติที่มีคนหลายเชื้อชาติอาศัยอยู่สถาปัตยกรรมที่สวยงามแปลกตา ในช่วงก่อนวันคริสต์มาส ชาวคริสต์แต่ละชุมชนจะประดิษฐ์ดาวรูปแบบต่าง ๆ แล้วแห่มารวมกันไว้ที่นี่

วัดโพธิ์ศรี ตั้งอยู่ริมถนนสุนทรวิจิตร เลียบริมแม่น้ำโขง ภายในกุฎิเจ้าอาวาสเป็นที่ประดิษฐานพระทอง ซึ่งเป็นพระพุทธรูปทองสำริด ปางมารวิชัย และเป็นพระพุทธรูปโบราณสกุลช่างล้านช้าง ตรงกับสมัยอยุธยาตอนต้น ในอดีตเคยทำพิธีสรงน้ำพระทองในวันสงกรานต์ แต่มักจะเกิดพายุและฝนตกหนักทุกครั้ง ภายหลังจึงเปลี่ยนเป็นพระพุทธรูปองค์อื่นแทน ปัจจุบันทุกวันเพ็ญเดือนหกจะนิมนต์มาตั้งไว้ที่หน้าโบสถ์ให้ชาวบ้านมาสรงน้ำ และในวันออกพรรษาชาวบ้านห้อมจะมาทอดปราสาทผึ้งที่วัดนี้ทุกปี

สวนหลวง ร.๙ จังหวัดนครพนม ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองนครพนมทางด้านทิศเหนือสร้างขึ้นเพื่อถวายเป็นพระราชสักการะ เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๕ รอบ เป็นสวนสาธารณะที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน

เขื่อนหน้าเมืองนครพนม เป็นสถานที่พักผ่อนของชาวเมืองนครพนม และเป็นจุดชมทิวทัศน์พระอาทิตย์ขึ้นและตกที่สวยงามริมแม่น้ำโขง บริเวณเขื่อนหน้าเมืองนครพนมนี้อยู่ตรงข้ามกับเมืองท่าแขก แขวงคำม่วน ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

หาดทรายทองศรีโคตรบูร เป็นหาดทรายน้ำจืดที่สวยงามมากแห่งหนึ่งในภาคอีสาน ในฤดูแล้ง (ราวเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม) หาดทรายจะยื่นออกไปกลางลำน้ำโขง หาดทรายนี้จะอยู่ตรงข้ามกับที่ทำการแขวงคำม่วน ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เหมาะสำหรับเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจและชมความงามของธรรมชาติ

บ้านนาจอก (บ้านท่านโฮจิมินห์) เป็นหมู่บ้านเก่าแก่ที่อดีตประธานาธิบดีสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามนายโฮจิมินห์ได้เคยเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารเจ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อกอบกู้เอกราชของวียดนาม ระหว่างปีพ.ศ. ๒๔๖๗–๒๔๗๔ สนใจเข้าชมติดต่อโทร. ๐ ๔๒๕๒ ๒๔๓๐ หมู่บ้านนี้จะปลูกต้นไม้รอบบ้านอย่างร่มรื่น เช่น ต้นหมาก พลู กล้วย และชา นอกจากนี้บริเวณริมถนนยังมีร้านก๋วยเตี๋ยวและอาหารเวียดนามขายอีกด้วย การเดินทาง ตามทางหลวงหมายเลข ๒๒ (นครพนม-สกลนคร) กิโลเมตรที่ ๒๓๗-๒๓๘

ข้อปฏิบัติในการยื่นทำบัตรอนุญาตผ่านแดน
ไปเมืองท่าแขก แขวงคำม่วน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

ด่านตรวจคนเข้าเมืองนครพนม ตั้งอยู่ถนนสุนทรวิจิตร เปิดทำการทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ ตั้งแต่เวลา ๐๘.๓๐-๑๘.๐๐ น. โดยทางปฏิบัติในการเดินทางเข้า-ออก ณ จุดผ่านแดนถาวร อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม เนื่องจากไทยและลาวได้มีข้อตกลงกันในการยกเว้นวีซ่า สำหรับคนไทยที่ไม่มีหนังสือเดินทางสามารถยื่นคำขอทำบัตรอนุญาตผ่านแดนได้ที่ สำนักงานจังหวัดหรือที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง โดยผู้ยื่นคำขอต้องยื่นด้วยตัวเองพร้อมเอกสารหลักฐาน ดังนี้

- บัตรประจำตัวประชาชน พร้อมสำเนา จำนวน ๑ แผ่น
- รูปถ่ายขนาด ๑ นิ้ว หน้าตรงไม่สวมหมวกหรือแว่นตา จำนวน ๒ รูป
- ค่าธรรมเนียมในการขอยื่นทำคำร้อง ฉบับละ ๓๐ บาท (วันจันทร์-ศุกร์) และ ๔๐ บาท (วันเสาร์-อาทิตย์) ค่าธรรมเนียมเข้าประเทศ คนละ ๕๐ บาท
- ค่าโดยสารเรือ ไป-กลับ คนละ ๑๒๐ บาท ทุกวัน
บริษัททัวร์ที่จะติดต่อข้ามไป สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ได้แก่ บริษัท
แม่โขง เวิลด์ ฮอลิเดย์ ถนนชยางกูร โทร. ๐ ๔๒๕๑ ๕๗๗๕ บริษัท เอส พี บีอาร์ ทัวร์ โทร. ๐ ๔๒๕๑ ๒๓๘๔ บริษัท นอร์ท บาย นอร์ทอีส โทร. ๐ ๔๒๕๑ ๓๕๗๒ บริษัท วี อาร์ การท่องที่ยว โทร. ๐ ๔๒๕๒ ๐๕๖๓ , ๐ ๔๒๕๑ ๑๔๘๕

อำเภอบ้านแพง

อุทยานแห่งชาติภูลังกา อุทยานแห่งชาติภูลังกาครอบคลุมพื้นที่อำเภอบ้านแพง จังหวัดนครพนม และอำเภอเซกา จังหวัดหนองคาย มีเนื้อที่ประมาณ ๓๑,๒๕๐ ไร่ หรือประมาณ ๕๐ ตารางกิโลเมตร ลักษณะเป็นภูเขาทับซ้อนกัน ๓ ลูก สลับด้วยเทือกเขาขนาดเล็กสลับซับซ้อนทอดยาวตามแนวลำน้ำโขง สภาพโดยทั่วไปเป็นป่าดงดิบ ป่าเบญจพรรณและป่าแดงที่สมบูรณ์มีสัตว์ป่าชุกชุม เป็นต้นกำเนิดของน้ำตก และลำธารใหญ่น้อยหลายสาย การเดินทาง จากตัวเมืองนครพนมใช้เส้นทางนครพนม-บ้านแพง ทางหลวงหมายเลข ๒๑๒ ระยะทางประมาณ ๑๐๕ กิโลเมตร และเลี้ยวซ้ายบริเวณกิโลเมตรที่ ๒๒๐ ห่างจากตัวอำเภอบ้านแพงประมาณ ๖ กิโลเมตร
สถานที่น่าสนใจภายในอุทยานฯ

น้ำตกตาดขาม เป็นน้ำตกที่ไหลเป็นชั้น ๆ จำนวน ๔ ชั้น เฉพาะชั้นสุดท้ายจะมีแอ่งน้ำขังตลอดปี สภาพโดยรอบร่มรื่น และมีลานหินเล็ก ๆ เหมาะสำหรับพักผ่อน

น้ำตกตาดโพธิ์ กำเนิดจากเทือกเขาภูลังกา น้ำตกมีลักษณะสวยงามไม่น้อยกว่าน้ำตกตาดขาม เป็นน้ำตกที่ไหลเป็นชั้นจำนวน ๔ ชั้น แต่ละชั้นสูงไม่น้อยกว่า ๑๐ เมตร ชั้นที่ ๒ สูงถึง ๓๐ เมตร การเดินทาง ใช้ทางหลวงหมายเลข ๒๑๒ จากนครพนมแล้วเลี้ยวซ้ายบริเวณกิโลเมตรที่ ๒๑๔ เข้าไปประมาณ ๓ กิโลเมตร ห่างจากน้ำตกตาดขาม ประมาณ ๔ กิโลเมตร

อำเภอธาตุพนม

พระธาตุพนม ประดิษฐาน ณ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร ผลจากการขุดค้นทางโบราณคดีลงความเห็นว่าพระธาตุพนมสร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ. ๑๒๐๐–๑๔๐๐ ตามตำนานกล่าวว่าผู้สร้างคือ พระมหากัสสปะ พระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ และท้าวพระยาเมืองต่าง ๆ ภายในองค์พระธาตุบรรจุพระอุรังคธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้ ลักษณะของสถาปัตยกรรมมีแหล่งที่มาที่เดียวกันกับปราสาทของขอม และได้ทำการบูรณะเรื่อยมา ในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ ได้รับการยกฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นเอกขึ้นเป็น “วรมหาวิหาร” พระธาตุพนมไม่เพียงแต่เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวนครพนมเท่านั้น พระธาตุพนมยังเป็นที่เคารพของชาวไทยภาคอื่น ๆ และชาวลาวอีกด้วย ว่ากันว่าถ้าใครได้มานมัสการพระธาตุครบ ๗ ครั้ง จะถือว่าเป็น “ลูกพระธาตุ” เป็นสิริมงคลแก่ชีวิตและจะมีความเจริญรุ่งเรือง หรือแม้แต่การได้มากราบพระธาตุพนม ๑ ครั้ง ก็ถือเป็นมงคลแก่ชีวิตแล้ว ในวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๑๘ เวลา ๑๙.๓๘ น. พระธาตุพนมได้ล้มทลายลงทั้งองค์ เนื่องจากความเก่าแก่ขององค์พระธาตุพนมและประจวบกับระหว่างนั้นฝนตกพายุพัดแรงติดต่อกันมาหลายวัน ประชาชนทั้งประเทศได้ร่วมบริจาคทุนทรัพย์และรัฐบาลได้ก่อสร้างองค์พระธาตุขึ้นใหม่ตามแบบเดิม การก่อสร้างนี้เสร็จสิ้นเมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๒๒ นอกจากพระบรมสารีริกธาตุที่บรรจุในองค์พระธาตุแล้ว ยังมีของมีค่ามากมายนับหมื่นชิ้น โดยเฉพาะฉัตรทองคำบนยอดพระธาตุเป็นฉัตรทองคำที่มีนน้ำหนักถึง ๑๑๐ กิโลกัม ปัจจุบันองค์พระธาตุมีฐานกว้างด้านละ ๑๒.๓๓ เมตร สูง ๕๓.๖๐ เมตร เป็นเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมสูงแลดูสง่างาม งานนมัสการองค์พระธาตุเริ่มตั้งแต่วันขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๓ ถึงวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๓ ของทุกปี การเดินทาง ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ ๕๓ กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข ๒๑๒ หรือจากสถานีขนส่งในอำเภอเมือง มีรถปรับอากาศและรถธรรมดาไปยังพระธาตุฯ

อำเภอเรณูนคร

เรณูนคร เรณูนครเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวผู้ไทย ซึ่งยังคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่นไว้เป็นอย่างดี อาทิ ธรรมเนียมการต้อนรับด้วยการบายศรีสู่ขวัญ การเลี้ยงอาหารแบบพาแลง การชวนดูดอุ การฟ้อนรำผู้ไทย นอกจากนี้ยังมีร้านจำหน่ายสินค้าพื้นเมืองและของที่ระลึกต่างๆไว้บริการนักท่องเที่ยวและประชาชนจากจังหวัดใกล้เคียงอีกมากมาย โดยเฉพาะบริเวณวัดพระธาตุเรณู และตลาดอำเภอเรณูนคร

การฟ้อนผู้ไทยนับเป็นการแสดงศิลปะและวัฒนธรรมแบบพื้นเมืองอย่างหนึ่งของชาวผู้ไทยที่ได้รับการถ่ายทอดกันมาเป็นเวลาช้านาน จากบรรพบุรุษของชาวเผ่าผู้ไทย ในสมัยก่อนเรียกการฟ้อนรำแบบนี้ว่า “ฟ้อนละครไทย” เป็นการแสดงออกให้เห็นถึงความสามัคคีในหมู่คณะเดียวกัน โดยการจับกลุ่มเล่นฟ้อนรำกันอย่างสนุกสนานในงานเทศกาลเดือนห้าและเดือนหก ซึ่งจะมีประเพณีบุญบั้งไฟและมีการเฉลิมฉลองเพื่อนมัสการองค์พระธาตุเรณู ในการฟ้อนรำสมัยก่อนนั้น เป็นการฟ้อนรำตามความถนัดและความสามารถ ความชำนาญของแต่ละบุคคล ไม่ได้เน้นความเป็นระเบียบหรือความพร้อมเพรียงกัน แต่เน้นลีลาท่าฟ้อนรำต่างๆ ที่แสดงออกมา ส่วนมากเป็นผู้ชายล้วนๆ จับกลุ่มฟ้อนรำกันเพื่ออวดสาวๆ ปัจจุบันเป็นการฟ้อนรำของหญิงชายคู่กัน โดยยึดการรำแบบดั้งเดิมเป็นหลัก นับเป็นศิลปะที่สวยงามละเอียดอ่อนหาดูได้ยากยิ่งในปัจจุบัน การเดินทาง อยู่ห่างจากพระธาตุพนม ๑๕ กิโลเมตร และห่างจากตัวจังหวัดนครพนมไปทางใต้ ๕๑ กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข ๒๑๒ ถึงประมาณกิโลเมตรที่ ๔๔ เลี้ยวขวาไปตามทางหลวงหมายเลข ๒๐๓๑ อีกประมาณ ๗ กิโลเมตร ทางลาดยางตลอด

พระธาตุเรณู ประดิษฐานอยู่วัดธาตุเรณู ณ บ้านเรณูนคร องค์พระธาตุจำลองมาจากองค์พระธาตุพนมองค์เดิม แต่มีขนาดเล็กกว่า สร้างเมื่อปี พ. ศ. ๒๔๖๑ โดยพระอุปัชฌาย์อินภูมิโย สูง ๓๕ เมตร กว้าง ๘.๓๗ เมตร มีซุ้มประตู ๔ ด้าน ภายในเป็นโพรงบรรจุพระไตรปิฎก พระพุทธรูปทองคำ พระพุทธรูปเงิน ของมีค่า และเครื่องกกุธภัณฑ์ของพระยาและเจ้าเมือง นอกจากนี้ภายในโบสถ์ยังประดิษฐานพระองค์แสน ซึ่งเป็นพระพุทธรูปทองคำศิลปะแบบลาว ปางสมาธิ พระคู่บ้านของอำเภอเรณูนคร มีพุทธลักษณะสวยงามมาก การเดินทาง จากสถานีขนส่ง ยังไม่มีรถจากอำเภอเมืองฯ ไปอำเภอเรณูนครโดยตรง ต้องขึ้นรถสายที่ไปวัดพระธาตุพนม และลงตรงแยกบ้านหลักศิลา จากนั้นเหมารถสกายแล็ปหรือมอเตอร์ไซต์รับจ้างเข้าไปที่วัด ระยะทางประมาณ ๗ กิโลเมตร

อำเภอนาแก

พระธาตุศรีคุณ ห่างจากอำเภอธาตุพนมตามทางหลวงสาย ๒๑๒ ประมาณ ๗ กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงสาย ๒๒๓ ประมาณ ๒๐ กิโลเมตร ถึงอำเภอนาแก และเลี้ยวซ้ายถึงวัดพระธาตุศรีคุณ เป็นที่ประดิษฐานพระธาตุศรีคุณซึ่งเป็นปูชนียสถานคู่บ้านคู่เมืองของชาวอำเภอนาแก ลักษณะส่วนบนของพระธาตุคล้ายพระธาตุพนม ต่างกันตรงที่ชั้นที่ ๑ มี ๒ ตอน เป็นรูปสี่เหลี่ยม ประดับลวดลายปูนปั้น และชั้นที่ ๒ สั้นกว่าพระธาตุพนม
วัดภูถ้ำพระ อยู่ห่างจากบ้านนาแกน้อยไปประมาณ ๖ กิโลเมตร เป็นที่ประดิษฐานเจดีย์ปราสาททอง บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า และพระอรหันต์ เดิมเป็นวัดที่พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตะเถระ ใช้เป็นที่ปฏิบัติธุดงค์กรรมฐาน

ดานสาวคอย ตั้งอยู่บริเวณวัดภูพานอุดมธรรม บนเทือกเขาภูพาน ห่างจากอำเภอนาแกประมาณ ๖ กิโลเมตร (เข้าทางเดียวกับมหาวิทยาลัยรามคำแหง นครพนม) การเดินทางขึ้นไปควรใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อ เพราะทางขึ้นขรุขระเป็นหลุมเป็นบ่อ พื้นที่ส่วนใหญ่ของดานสาวคอยเป็นลานหินเรียบ มีต้นไม้เบญจพรรณขึ้นประปราย เมื่อขึ้นถึงลานหินนี้แล้ว สามารถมองเห็นยอดพระธาตุพนม ความเป็นมาของสถานที่แห่งนี้เนื่องมาจากหนุ่มสาวชาวบ้านสมัยก่อนเวลาจะไปหาของป่าจะนัดหมายมาคอยกันที่ลานหินนี้เป็นประจำ หรือมาเที่ยวชมความงามโดยฝ่ายสาวจะมาเป็นผู้คอย จึงได้ชื่อว่า “ดานสาวคอย”

อำเภอปลาปาก

วัดพระธาตุมหาชัย ประดิษฐานอยู่บ้านมหาชัย ตำบลมหาชัย องค์พระธาตุสูง ๓๗ เมตร เป็นปูชนียสถานที่สำคัญยิ่งแห่งหนึ่ง เพราะเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันต์สารีริกธาตุ ภายในพระอุโบสถนอกจากพระประธานคือ พระพุทธไชยสิทธิ์แล้วยังมีพระพุทธรูปปางห้ามญาติสลักจากไม้ต้นสะเดาหวานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และภาพเขียนบนฝาผนังอุโบสถแสดงพุทธประวัติ มีลวดลายศิลปกรรมที่งดงามมากในภาคอีสาน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ที่พระธาตุมหาชัย เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๘ ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ซึ่งเป็นวันวิสาขบูชา และที่วัดนี้ยังเป็นที่จำพรรษาของพระสุนทรธรรมากร (หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ) พระเกจิอาจารย์สายวิปัสนาที่สำคัญองค์หนึ่ง ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของชาวนครพนมและชาวอีสานทั่วไป การเดินทาง ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ ๓๙ กิโลเมตร ตามเส้นทางนครพนม-สกลนคร ทางหลวงหมายเลข ๒๒ (กิโลเมตรที่ ๒๐๑-๒๐๒ เลี้ยวซ้ายเข้าวัดอีก ๒ กิโลเมตร

อำเภอนาหว้า

พระธาตุประสิทธิ์ ประดิษฐานอยู่ที่วัดพระธาตุประสิทธิ์ หมู่ที่ ๑๓ ตำบลนาหว้า ห่างจากอำเภอเมืองประมาณ ๙๘ กิโลเมตร สามารถเดินทางจากตัวเมืองนครพนมไปตามทางหลวงหมายเลข ๒๑๒ ผ่านอำเภอท่าอุเทน ถึงทางหลวงหมายเลข ๒๐๓๒ แยกซ้ายมือเข้าอำเภอศรีสงคราม ระยะทางประมาณ ๗๒ กิโลเมตร เป็นที่บรรจุพระอุรังคธาตุของพระพุทธเจ้า ประชาชนในท้องถิ่นและใกล้เคียงเคารพนับถือมาก

อำเภอท่าอุเทน

พระธาตุท่าอุเทน อยู่บ้านท่าอุเทน ใกล้กับที่ว่าการอำเภอท่าอุเทน องค์พระธาตุก่ออิฐถือปูนเป็นผังรูปสี่เหลี่ยมคล้ายพระธาตุพนม สร้างเป็น ๓ ชั้น ชั้นแรกเป็นอุโมงค์บรรจุของมีค่าต่าง ๆ ชั้นที่ ๒ สร้างครอบอุโมงค์ ชั้นที่ ๓ คือเจดีย์องค์ใหญ่ สูงประมาณ ๑๕ เมตร พระอาจารย์ศรีทัตถ์เป็นผู้สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๔ พระธาตุนี้เป็นศิลปกรรมและปูชนียสถานอันสำคัญยิ่งองค์หนึ่ง บรรจุพระธาตุของพระอรหันต์ ซึ่งพระอาจารย์ศรีทัตถ์ได้อัญเชิญมาจากเมืองย่างกุ้ง จะมีงานนมัสการพระธาตุในวันขึ้น ๑๓ ค่ำ ถึงแรม ๑ ค่ำ เดือน ๔ ของทุกปี การเดินทาง จากตัวเมืองนครพนมไปตามทางหลวงหมายเลข ๒๑๒ ประมาณ ๒๖ กิโลเมตร พระบางวัดไตรภูมิ เป็นพระพุทธรูปยืนปางห้ามสมุทร พุทธศิลปแบบลาว สูง ๘๐ นิ้ว แท่นสูง ๒ นิ้วครึ่ง ฐานรูป ๘ เหลี่ยม สูง ๑๕ นิ้ว และฐานตั้งอยู่บนช้าง ๘ เชือก สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๐๐๘ เป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์มาก เชื่อกันว่าถ้านำออกมาแห่จะทำให้ฝนตก ประชาชนที่สนใจจะเข้าไปนมัสการต้องขออนุญาตจากเจ้าอาวาสก่อน

เทศกาลงานประเพณี

งานนมัสการพระธาตุพนม กำหนดจัดขึ้นในวันขึ้น ๑๐ ค่ำถึงวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๓ ของทุกปี ซึ่งถือเป็นงานประเพณีที่ยิ่งใหญ่และสำคัญยิ่งงานหนึ่งของชาวนครพนมและจังหวัดใกล้เคียง

งานประเพณีไหลเรือไฟนครพนม (เฮือไฟ) จัดขึ้นในวันออกพรรษา คือวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ และวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ของทุกปี บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดริมแม่น้ำโขงบริเวณเขตเทศบาล การไหลเรือไฟถือเป็นการบูชาพระพุทธเจ้าในวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากเทวโลก หลังจากที่พระพุทธองค์ได้เสด็จขึ้นไปจำพรรษาที่ดาวดึงษ์เพื่อแสดงพระธรรมเทศนาโปรดพระพุทธมารดา เมื่อออกพรรษาแล้วพระพุทธเจ้าก็เสด็จลงมาสู่มนุษย์โลก โดยบันไดทิพย์ทั้ง ๓ วันนี้เรียกว่า “วันพระเจ้าโปรดโลก” พระองค์เสด็จมา ณ เมืองสังกัสสะ สถานที่นั้นเรียกว่า “อจลเจดีย์” (อ่านว่า อะ-จะ-ละ-เจ-ดี) ทวยเทพทั้งหลายส่งเสด็จ มวลมนุษย์ทั้งหลายรับเสด็จด้วยเครื่องสักการะบูชามโหฬาร การไหลเรือไฟก็คือการสักการะบูชาอย่างหนี่งในวันนั้น และได้ทำเป็นประเพณีสืบทอดกันมาจนถึงทุกวันนี้

ข้อมูลเพิ่มเติม http://www.thatphanom.com/his_002.php

องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครพนม
151/1 ถ.นครพนม-ท่าอุเทน อ.เมือง จ.นครพนม 48000
หมายเลขโทรศัพท์ 042-514666 Fax 042-514666

ผู้บริหาร อบจ.นครพนม

Item Thumbnail
free unlimited image hosting

โรงเรียนปลอดบุหรี่
ฝากรูป

free unlimited image hosting
Item Thumbnail
Item Thumbnail
free unlimited image hosting
free unlimited image hosting
free unlimited image hosting
free unlimited image hosting