ในช่วงปี พ.ศ. 2497 จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีโอกาสไปเยือนประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรป อาทิ ฝรั่งเศส และอังกฤษ ซึ่งเป็นประเทศแม่แบบระบอบประชาธิปไตย ได้ไปเห็นรูปแบบการปกครองท้องถิ่นของเขา โดยเฉพาะในประเทศฝรั่งเศสซึ่งมีการปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับจังหวัด จึงได้นำหลักการดังกล่าวมาปรับปรุงสภาจังหวัดให้มีอำนาจหารายได้และมีอิสระที่ จะดำเนินการกิจการบางประการเองได้ โดยในปี พ.ศ. 2498 รัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงครามได้ตรา พระราช-บัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด พ.ศ.2498 ขึ้น โดยมีเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ว่า โดยที่พระราชบัญญัติสภาจังหวัด พ.ศ.2481 และที่แก้ไขเพิ่มเติมปี พ.ศ.2485 และพ.ศ.2487 ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ให้สภาจังหวัดเป็นเพียง สภาที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัด แต่ขาดอำนาจหน้าที่และกำลังเงินที่จะทำนุบำรุงท้องถิ่นในจังหวัดนั้น
หลักการตามพระราชบัญญัติระเบียบ บริหารราชการส่วนจังหวัด พ.ศ. 2498 มีสาระสำคัญดังนี้.-
(1) “จังหวัด” กฎหมายฉบับนี้ให้คำนิยามไว้ว่า คือ “องค์การบริหารส่วนจังหวัด” และเป็นนิติบุคคล มีสมาชิกสภาจังหวัดและผู้ว่าราชการจังหวัดดำเนินกิจการส่วนจังหวัด ซึ่งเป็นการรับรองฐานะของจังหวัดอีกฐานะหนึ่งว่าเป็นหน่วยปกครองแยกออก ไปจากระเบียบบริหารราชการส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค เพื่อให้ดำเนินกิจการส่วนจังหวัด คือกิจการที่แยกเป็น ส่วนต่างหากจากราชการแผ่นดินส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค
(2) “ผู้ว่าราชการจังหวัด” เมื่อกฎหมายฉบับนี้ประกาศใช้ ทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมี 2 ฐานะ คือ เป็นตัวแทนราชการส่วนกลางในการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งมีอำนาจหน้าที่บริหารตามกฎหมาย ระเบียบ และคำสั่งของกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ ในราชการส่วนภูมิภาค ทั้งเป็นหัวหน้าผู้ปกครอง บังคับบัญชาข้าราชการพลเรือนของกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ ซึ่งประจำอยู่ที่จังหวัดด้วย ส่วนฐานะที่สอง คือ เป็นตัวแทนของประชาชน และเป็นผู้ดำเนินกิจการส่วนจังหวัด (กิจการขององค์การบริหารส่วนจังหวัด) ควบคู่ไปกับสภาจังหวัด
(3) “สภาจังหวัด” เป็นองค์การผู้แทนประชาชน เป็นฝ่ายที่จะร่วมดำเนินกิจการส่วนจังหวัด ควบคุม ดูแลการปฏิบัติของฝ่ายผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้อนุมัติให้ความเห็น ชอบในข้อบัญญัติจังหวัด และงบประมาณรายจ่ายรายได้ของจังหวัด
(4) “กิจการส่วนจังหวัด” ได้กำหนดให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการท้องถิ่นหลายประการ ซึ่งในกฎหมายฉบับนี้กำหนดไว้ถึง 20 ข้อ มีทั้งการรักษาความสงบเรียบร้อย การศึกษา การบำรุงศาสนา การสาธารณูปการ การป้องกันรักษาโรค การกำจัดขยะมูลฝอย และสิ่งปฏิกูล การจัดให้มีน้ำสะอาด การทำมาหากินของราษฎร เป็นต้น
(5) “ข้าราชการส่วนจังหวัด” เมื่อกำหนดให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นองค์การปกครองท้องถิ่นเป็นนิติบุคคลแล้ว จำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือปฏิบัติกิจการส่วนจังหวัด โดยกำหนดให้ผู้ว่า-ราชการจังหวัดที่ช่วยเหลือปฏิบัติกิจการส่วนจังหวัด โดยกำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจบรรจุ แต่งตั้ง อัตราเงินเดือน การเลื่อนขั้น เลื่อนระดับตลอดจนการบริหารบุคคลต่าง ๆ แต่ในระยะเริ่มต้น องค์การบริหารส่วนจังหวัดยังไม่มีรายได้เพียงพอ หากนำรายได้ที่มีอยู่มาเป็นเงินเดือนข้าราชการส่วน-จังหวัดก็จะไม่มีเงินไปทำนุบำรุงท้องถิ่น กฎหมายฉบับนี้ได้บัญญัติไว้ในบทเฉพาะการว่าถ้ายังมิได้กำหนดชั้น และตำแหน่งใดเป็นข้าราชการส่วนจังหวัด ให้ข้าราชการส่วนภูมิภาคในจังหวัดที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับ กิจการนั้นดำเนินกิจการไปพลางก่อน และถ้าไม่มีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องผู้ว่าราชการจังหวัด จะให้หัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบก็ได
คณะกรรมการข้าราชการส่วนจังหวัด (ก.จ.) เป็นผู้มีอำนาจออกกฎ ก.จ. เพื่อให้มีตำแหน่ง ข้าราชการส่วนจังหวัดต่าง ๆ แต่ในพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด พ.ศ. 2498 ได้กำหนดตำแหน่งปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด เลขานุการจังหวัด และหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดไว้แล้ว แต่ยังไม่ได้กำหนดอัตราเงินเดือน ซึ่งเป็นอำนาจ ก.จ. ที่จะกำหนดเลขที่ตำแหน่ง ชั้นระดับ อัตราเงินเดือน คุณสมบัติของผู้สมัครสอบคัดเลือกเข้ามาบรรจุแต่งตั้ง เนื่องจากในระยะแรกยังมีงบประมาณไม่เพียงพอ ผู้ว่าราชการจังหวัดจึงแต่งตั้งปลัดจังหวัด เป็นปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด ผู้ตรวจการส่วนท้องถิ่น เป็นเลขานุการจังหวัด เสมียนตราจังหวัด เป็นหัวหน้าส่วนการคลัง
องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครพนม
151/1 ถ.นครพนม-ท่าอุเทน อ.เมือง จ.นครพนม 48000
โทรศัพท์ 0-4251-2955 โทรสาร 0-4251-2955